เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้ที่ผ่านการออกดอกและพักตัวในฤดูร้อนมาแล้วจะเริ่มฟื้นตัว เจริญเติบโตแทงยอดใหม่ ต้นไม้จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งในช่วงฤดูฝนนี้ดูเหมือนว่าต้นไม้จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและแข็งแรงดี แต่เมื่อมองให้ดี จะมีปัญหาอุปสรรคมากมายเกี่ยวกับโรคพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน่า อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น เป็นระยะเวลายาวนาน ตลอดจนความร้อนอบอ้าวของสภาพโรงเรือนที่เลี้ยงและสภาพน้ำขังเป็นเวลานาน จะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียเป็นอย่างมาก หรือทำให้รากเน่าเนื่องจากรากขาดอากาศหายใจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมาดูแลเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติและหาทางป้องกันไว้ก่อนที่สายเกินไปเพื่อให้ต้นไม้มีสภาพที่สมบรูณ์แข็งแรงสามารผ่านฤดูฝนไปได้ ในการดูแลรักษาต้นไม้ในฤดูฝนสิ่งที่สำคัญคือการควบคุมการให้น้ำ โดยการให้น้ำตามเหมาะสม หากมีฝนตกมากหรือสภาพอากาศค่อนข้างชื้น หรือวัสดุปลูกยังชื้นอยู่ ควรเลื่อนการให้น้ำออกไปหรือรดให้น้อยลง ตลอดจนควรมีการป้องกันไม่ให้ต้นไม้ได้รับฝนมากเกินไป โดยหลังคากันฝนอีกชั้นหนึ่งหรือทำร่องระบายน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ หรือทำคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่พื้นที่ปลูกพืช ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น ควรเปลี่ยนสูตรปุ๋ยให้มีธาตุโปตัสเซียมมากขึ้นเพื่อให้พืชมีความแข็งแรงมากขึ้น และยังคงให้มียอดแทงขึ้นมาเจริญไปตามปกติ หากใช้แต่ปุ๋ยฟอสฟอรัสหรือโปตัสเซี่ยมเพียงอย่างเดียวจะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโตได้ ตลอดจนการยืดเวลาการให้ปุ๋ยออกไปเช่น จากเดิมให้ทุกๆ 5 – 7 วันก็ให้ทุกๆ 10 – 14 วัน ตลอดจนควรใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับต้นพืชเจริญเติบโตดี และต้านทานต่อโรคพืช สำหรับการควบคุมป้องกันและกำจัดโรคนั้น ควรเน้นการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคเน่าให้มากขึ้น และฉีดพ่นให้ถี่มากขึ้น เช่นจากเดิมเคยฉีดพ่นทุกๆ 7 – 10 วันเป็นทุกๆ 5 – 7 วัน ตลอดจนควรหมั่นตรวจดูต้นไม้ให้มากขึ้น หากพบมีต้นที่เป็นโรคให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคหรือแยกต้นที่เป็นโรคออกจากกลุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปต้นอื่นและสิ่งสำคัญที่สุดคือการระบายอากาศภายในโรงเรือน จะต้องให้โปร่งลมพัดผ่านได้ดีสามารถทำได้โดยการรื้อผนังหรือสิ่งกีดขวางทางลมออก หรือถ้าเป็นไม้ยืนต้นควรมีการตัดแต่งกิ่งให้โปร่งจะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้น นอกจากนั้นควรแยกต้นไม้ที่ปลูกในกระถางหรือไม้แขวน ปรับให้ห่างกันมากขึ้น ตลอดจนการเปิดหลังคาที่ทึบมากเกินไปออก เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปได้มากขึ้นจะช่วยให้ต้นไม้แห้งเร็วขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคเน่าก็จะน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนั้นก่อนที่จะมีการปลูกพืชควรมีการศึกษาสภาพพื้นที่ก่อน เช่นระดับดินเป็นที่ราบลุ่มหรือมีน้ำขังหรือไม่ การระบายน้ำ ระดับน้ำใต้ดิน รวมถึงการปรับปรุงวิธีการปลูก และการเลือกใช้วัสดุปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพืช การจัดการเพียงเท่านี้ก็จะทำให้การปลูกเลี้ยงต้นไม้ที่ชื่นชอบ สามารถเจริญเติบโตได้ดีและผ่านพ้นฤดูฝนไปได้เตรียมพร้อมที่จะออกดอกในฤดูต่อไป
นายนิรัช ก้อนใจ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่